เด็กๆ ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม ก็จะต้องโดยสารรถยนต์ อย่างน้อยๆ เมื่ออายุได้สักสองสามวัน ก็จะต้องนั่งรถกลับบ้าน คำถามคือ ทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยที่สุด ?
สำหรับผู้ใหญ่แล้ว รถยนต์สมัยนี้ได้ใส่อุปกรณ์ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุไว้ดีกว่าแต่ก่อนมาก มีสองอย่างหลักๆ คือ เข็มขัดนิรภัย เพื่อป้องกันการกระเด็นและกระแทกกับพวงมาลัย เมื่อใช้ร่วมกับ ถุงลมนิรภัย ก็จะลดการบาดเจ็บลงได้มาก เนื่องจากศีรษะและใบหน้าไม่ต้องกระแทกกับพวงมาลัยหรือคอนโซลหน้ารถโดยตรง
สิ่งเหล่านี้เหมาะกับเด็กหรือไม่ ??
คำตอบคือ ไม่เลย
ให้ลองนึกภาพเอาเด็กอายุสักสี่ห้าขวบ มานั่งบนเบาะรถยนต์แล้วจับคาดเข็มขัดนิรภัยดู จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบคือ เข็มขัดจะรัดคอเด็กพอดี ในลักษณะนี้หากเกิดอุบัติเหตุจะได้รับการบาดเจ็บบริเวณคอ กล่องเสียงแตก และคอหักได้
ภาพจาก: http://www.aviva.co.uk/
อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ขนาดศีรษะเด็กนั้นมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับตัว(ตามภาพ) ดังนั้น เมื่อเกิดการชน (ให้นึกภาพว่าเหมือนการสะบัดแส้) ส่วนหัวของเด็กจะเกิดการสะบัดเหมือนปลายแส้ไปข้างหน้าและกลับมาข้างหลังอย่างรวดเร็ว (whiplash injury) ซึ่งในลักษณะนี้จะทำให้คอหัก พิการหรือเสียชีวิตได้ครับ
นอกจากนี้ ถุงลมนิรภัยก็ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเด็ก เมื่อเกิดการชน ถุงลมนิรภัยจะพองตัวออกมาอย่างรวดเร็ว ศีรษะเด็กที่มีขนาดโตอยู่แล้ว ยิ่งจะกระแทกแรงขึ้นเป็นสัดส่วน ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก หรือที่นิยมเรียกกันว่า car seat นั่นเอง มีแบบหลักๆ อยู่ 3 แบบด้วยกันดังนี้
- แบบหันหน้าเข้าหาเบาะ
- แบบหันหน้าออกจากเบาะ
- แบบเบาะรองนั่ง
ซึ่งแต่ละแบบจะมีลักษณะการใช้ที่ต่างกันบ้าง สองแบบแรกจะมีลักษณะเป็นเบาะผสมเปลเด็ก คือให้เด็กอยู่ใน car seat นั้นเลย ติดตั้งโดยการติดเข้ากับขอเกี่ยวที่เบาะของรถยนต์ และมีเข็มขัดรัดเด็กอยู่ในตัว car seat ในตัว
โดยแบบหันหน้าเข้าเบาะจะเป็นชนิดที่ปลอดภัยที่สุดเนื่องจากเมื่อเกิดการชน ตัวเด็กก็จะกระแทกกับเบาะแทนซึ่งจะไม่ได้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บมากนัก แต่จะใช้ได้กับเด็กเล็กๆ อายุไม่เกินสองสามปี เนื่องจากขาจะติดกับเบาะรถยนต์
ส่วนแบบหันหน้าออกจากเบาะนั่นจะเหมาะกับเด็กที่โตขึ้นมาสักหน่อย อย่างน้อยอายุมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป เนื่องจากเมื่อเกิดการชน การหันหน้าออกจากเบาะย่อมเกิด whiplash injury ได้ ซึ่งเด็กที่โตกว่าหนึ่งปีนั้น ศีรษะเมื่อเทียบกับตัวเป็นสัดส่วนที่น้อยลง โอกาสเกิด whiplash injury ย่อมน้อยกว่าเด็กเล็กๆ
สังเกตว่าเข็มขัดนิรภัยของ car seat นั้นเป็นเข็มขัดนิรภัยชนิด 4 จุดเหมือนที่ใช้ในรถแข่งและที่นั่งคนขับเครื่องบิน ซึ่งป้องกันการบาดเจ็บได้ดีที่สุด
สำหรับชนิดที่สามนั้น เป็นลักษณะเหมือนเบาะเสริมขึ้นมาเพื่อให้เด็กสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถยนต์ได้เลย (เหตุผลดังที่กล่าวไปตอนแรกคือ เด็กยังตัวเล็ก หากไม่ใช้เบาะรองเสริม เข็มขัดนิรภัยแบบสามจุดมาตรฐานจะรัดคอเด็กพอดี) เบาะเสริมแบบนี้แนะนำให้ใช้จนกว่าเด็กจะโตพอที่เข็มขัดนิรภัยจะไม่รัดคอ ไม่มีอายุกำหนดชัดเจนขึ้นกับการเติบโตของเด็กแต่ละคน
แนวทางในการเลือกใช้ car seat ตามอายุเป็นดังนี้
สำหรับการติดตั้ง car seat แนะนำให้ติดตั้งที่ “เบาะด้านหลัง” เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารจะพองออกมาและกระแทกทั้ง car seat และเด็กจนเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งที่เบาะด้านหน้า จะต้องทำการปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารเสมอ ซึ่งสามารถทำได้ในรถบางรุ่น แต่หากไม่สามารถปิดการทำงายของถุงลมนิรภัยได้ ต้องติดตั้ง car seat ที่เบาะหลังเท่านั้น
เรื่องน่ากลัวคือ เห็นมีของขายในอินเตอร์เน็ต เป็นเบาะเป่าลมเพื่อให้นอนได้ในเบาะหลัง เบาะชนิดนี้ให้ใช้เฉพาะเวลาที่จอดรถเฉยๆ เท่านั้น เช่นไปปิคนิคแล้วให้เด็กนอน ไม่ควรใช้เวลารถวิ่งแล้วให้เด็กนอนเป็นอันขาด เพราะเท่ากับเด็กไม่ได้รับการป้องกันอะไรเลย จะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้อย่างมาก
คำถามที่ว่า อย่างแต่ก่อนนั้น นั่งรถไปแล้วอุ้มลูกไว้ที่อกได้ไหม คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะว่าเวลาเกิดอุบัติเหตุ ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที และการชนนั้นจะเกิดแรงกระแทกให้เด็กเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเท่ากับความเร็วรถที่วิ่ง ดังนั้นไม่มีทางคว้าเด็กทันแน่นอน และโดยมากมักจะจบลงด้วยการที่เด็กกระแทกกับคอนโซลหรือกระจกหน้าและเสียชีวิต
.
.
เมื่อเด็กนั่งรถ จงใช้ car seat เสมอ
จนกว่าเด็กจะโตพอที่จะใช้เข็มขัดนิรภัยมาตรฐานที่ติดมากับรถยนต์ได้
และไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ นั่งรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ ไม่ว่าจะนั่งเบาะหน้าหรือเบาะหลังก็ตาม
.
.
ด้วยความรักจากผู้เขียน
นายแพทย์กฤตวิทย์ อนุโรจน์
กุมารแพทย์
iDoctorhouse Guest
บ้านหมอ แหล่งความรู้สุขภาพ
คำนิยมผู้เขียน
พี่ กฤตวิทย์ อนุโรจน์ จัดได้ว่าเป็นแพทย์ที่เก่งและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีทั้งต่อคนไข้และเพื่อนร่วมงาน
และเป็นที่รักในหมู่คนไข้และเป็นที่ปรึกษาที่ดีของรุ่นน้องตลอด เต็มไปด้วยความรู้ความสามารถในการรักษา
ไม่เพียงใช้มาตรฐานในประเทศไทย แต่ยังใช้การรักษาของต่างประเทศมาพัฒนาการแพทย์ไทยด้วย
ขอการันตีว่าสิ่งที่เขียน ไม่ได้หวังผลทางการตลาดใดๆ เป็นความจริงใจ และความห่วงใยที่มีทั้งสิ้นครับ
ด้วยความเคารพ
ดูวีดีโอเพื่อความเข้าใจกันครับ