ปัญหาใหญ่ของคุณแม่ในปัจจุบันนั้น คงหนีไม่พ้นกับการต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาให้นมลูกเหมือนคุณแม่ในสมัยก่อนครับ ดังนั้นการเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกกิน ในตอนที่คุณแม่ไม่อยู่จึงเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ ซึ่งทำไม่ยากเลย
ในบทนี้หมอจะสอนการเก็บน้ำนมของคุณแม่ที่ถูกต้อง โดยแบ่งเป็นระยะต่างๆ ตั้งแต่ช่วงอยู่ในโรงพยาบาล ตอนกลับบ้าน รวมไปถึงตอนที่คุณแม่ต้องออกไปทำงานครับ ซึ่งก่อนไปเรียนรู้เรื่องการเก็บน้ำนม หมอจะพาไปดูกันก่อนครับ ว่าน้ำนมนั้นมาจากไหน
น้ำนมแม่มาจากไหน ?
น้ำนมแม่นั้นสร้างจากเนื้อเยื่อในเต้านม โดยการควบคุมของระบบฮอร์โมนจากสมอง สามารถดูรูปและอ่านกลไกคร่าวๆของการสร้างน้ำนมแม่ จากเรื่องเดิมครับ (คลิกที่นี่เพื่ออ่านตอนกำเนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)
หมอขอสรุปสั้นๆสองอย่างดังนี้ครับ
- สิ่งที่กระตุ้นการสร้างน้ำนม เช่น การดูดนม และ เต้านมที่ไม่มีน้ำนม
- สิ่งที่ยับยั้งการสร้างน้ำนม เช่น น้ำนมเต็มเต้าและการคัดตึงเต้านม
หากจะสรุปได้ง่ายๆ หากอยากให้น้ำนมเยอะ คือ “ให้เกิดการดูดบ่อยๆ อย่าให้นมคัดเต้า” เข้าใจเท่านี้ก็เพียงพอครับ
การปั๊มเก็บน้ำนม
ปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์ปั๊มน้ำนมหลายแบบครับ เลือกซื้อได้ตามกำลังทรัพย์เลย และอย่าลืมถุงเก็บน้ำนมนะครับ น้ำนมที่เราเก็บนั้น ถ้าเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นธรรมดา สามารถเก็บได้ 6 เดือน แต่หากเราใช้ตู้แช่ไอศกรีม สามารถเก็บได้ถึง 1 ปีเลยทีเดียวครับ
การปั๊มนมนั้นใช้ระยะเวลารอบละ 15 – 20 นาที และจะปั๊มสองข้างพร้อมกันนะครับ
น้ำนมที่ได้นั้นเราจะรวบรวม เพื่อแพ็คใส่ถุงเก็บน้ำนมวันละครั้งนะครับ เทรวมกันไว้ในขวดๆเดียวแช่ตู้เย็นไว้ก่อน พอเสร็จสิ้นวันนั้นๆค่อยเทใส่ถุงเก็บน้ำนม ก่อนเทนมใส่ถุงเก็บน้ำนม อย่าลืมเขียนวันที่นะครับ
หลังจากนั้นเราจะเอาถุงเก็บน้ำนมนี้ วางในแนวนอนในช่องแช่แข็งให้แบนราบ รอจนแข็งตัวแล้วค่อยจัดเรียงตามสะดวก เราทำแบบนี้เพื่อลดพื้นที่จัดเก็บครับ
ปั๊มเก็บน้ำนมเวลาไหนดี?
เวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมนั้นแตกต่างกันครับ หมอขอแบ่งง่ายเป็น 3 ช่วงดังนี้ครับ
ช่วงแรก (อยู่ที่โรงพยาบาล)
ช่วงหลังคลอด 2-3 วันแรก น้องยังมีพลังงานสะสมอยู่ จะไม่ค่อยงอแงขอดูดนมมากเท่าไหร่ แต่คุณแม่ควรปั๊มนมทุก 3 ชั่วโมง จะเป็นระหว่างรอบที่ให้นม หรือหลังลูกดูดนมก็ได้ครับ
เราปั๊มเพื่อเป็นการกระตุ้นร่างกายให้สร้างน้ำนม ซึ่งช่วงนี้น้ำนมอาจจะยัง ไม่มี หรือ มีน้อย อย่าลืมว่ายิ่งปั๊มบ่อย เต้านมไม่คัดตึง ยิ่งจะช่วยในกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนมครับ
ช่วงกลับบ้าน
ลูกและคุณแม่จะได้นอนโรงพยาบาล 2-3 วัน เพื่อตรวจเช็คเลือด ดูค่าความเหลืองและไทรอยด์ หากผลปกติดีจะได้กลับบ้าน ช่วงที่กลับบ้านนี้เป็นช่วงที่พลังงานสะสมของลูกหมด ลูกจะเริ่มงอแงขอกินบ่อยกว่าเดิม
ช่วงนี้หน้าที่ของคุณแม่คือให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมงครับ (ส่วนงานอื่นๆสามีต้องทำให้ เน้นว่าให้สามีทำ)
โดยทั่วไปนิยมให้นมลูกคือเวลา 6 9 12 15 18 21 24 3 รวมๆแล้วก็คือ 8 รอบต่อวัน ซึ่งการปั๊มนมนั้นก็ควร ปั๊มระหว่างรอบที่เอาลูกกินนม คือ 7.30 10.30 13.30 16.30 19.30 22.30 ส่วนหลังเที่ยงคืนแล้วคงเป็นเวลาในการพักผ่อนครับ รวมๆแล้วจะได้ ประมาณ 6 รอบต่อวัน
เรารวบรวมนมที่ปั๊มแต่ละรอบใส่ขวดไว้ก่อนครับ พอครบรอบสุดท้ายของวัน จะทำการแพ็คใส่ถุงเก็บน้ำนม และล้างอุปกรณ์ปั๊มนมวันละ 1 ครั้งครับ
ช่วงไปทำงาน
ช่วงนี้คือช่วงที่สำคัญที่สุด เป็นช่วงวัดใจระหว่าง “นมแม่” และ “นมผง” แต่หมออยากให้ใช้นมแม่นะครับ สามารถอ่านเหตุผลได้ครับ (คลิกที่นี่เพื่อดูความแตกต่างระหว่างนมแม่และนมผง)
ช่วงนี้คุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ถ้าเป็นไปได้หมออยากให้ กินนมแม่ให้ได้มากมื้อมากที่สุดนะครับ ส่วนในขณะที่คุณแม่ไปทำงาน ก็สามารถปั๊มนมได้เช่นกัน ระยะเวลาก็ประมาณ 3 ชั่วโมงต่อรอบครับ
อย่าลืมนะครับว่า หากปล่อยไว้นาน เต้านมคัดตึงเมื่อไหร่ การสร้างน้ำนมจะลดลงเมื่อนั้น ขยันปั๊มกันนะครับ
ส่วนลูกที่อยู่บ้าน สามารถกินนมสต๊อคที่เราทำไว้ได้เลย การเตรียมนมคือ เอาถุงเก็บน้ำนมออกจากช่องแช่แข็งมาไว้ในช่องเย็นธรรมดาก่อนใช้ประมาณ 1 วัน ก่อนให้ลูกกินจริงก็แค่เอาออกจากตู้เย็นมาไว้ข้างนอกรอละลายก็เพียงพอ อย่าลืมใช้นมที่เก่าที่สุดก่อนนะครับ
นมสต๊อคเหม็นหืนเป็นธรรมดา ถ้าชิมแล้วไม่เปรี้ยวเป็นใช้ได้ครับ
.
.
เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว สุขภาพกาย และ สุขภาพจิต ค่อนข้างดีกว่าเด็กที่กินนมวัวครับ
ลูกเราเป็นเด็กแค่ครั้งเดียว มีเวลาเพียงไม่นานที่จะพัฒนาทั้งสุขภาพกาย และ สุขภาพจิตของเขา
ช่วยกันเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันครับ
.
.
ด้วยความรัก
Series นมแม่ :
ตอนที่ 1 กำเนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม