“ เพราะ บางครั้งกว่าจะถึงมือหมอ มันอาจจะสายเกินไป
การดูแลเรื่องไข้สูงอย่างถูกวิธีและรวดเร็ว สามารถป้องกันการชัก
และ ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ครับ “
.
.
สมดุลอุณหภูมิร่างกายมนุษย์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 37 ℃ สามารถแปรผันขึ้นลงในแต่ละวันได้ประมาณ 0.5 ℃
เหตุผลที่ต้องรักษาสมดุลให้อยู่ประมาณ 37 ℃ เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนและเอนไซม์ต่างๆสามารถทำงานได้ปกติ ซึ่งสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีสมดุลเรื่องอุณหภูมิที่แตกต่างกันครับ
สมดุลเรื่องอุณหภูมิ ถูกแบ่งออกเป็นสองทางคือสร้างและระบายความร้อน ซึ่งหน้าที่ในการสร้างความร้อนจะมาจากตับและกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่ ส่วนฝั่งของการระบายความร้อนจะเป็นหน้าที่ของรูขุมขนบนผิวหนังและการหายใจออก
ตัวอย่างง่ายๆในการรักษาสมดุลอุณหภูมิ คือการออกกำลังกายครับ ซึ่งพลังงานจากกล้ามเนื้อจะเปลี่ยนเป็นความร้อน และเพื่อรักษาสมดุล เราต้องหายใจหอบและเหงื่อแตก เพื่อระบายความร้อนนั้นทิ้งไป
อาการไข้ เกิดจาก สมองปรับสมดุลอุณหภูมิสูงขึ้น จาก 37℃ ไปเป็น 38℃ 39℃ 40℃
สมองส่วนนี้เรียกว่า ไฮโปธาลามัส นั่นเอง ซึ่งตัวไฮโปธาลามัสจะโดนกระตุ้นโดย การติดเชื้อ ยา สารเคมีในร่างกาย หรือความผิดปกติของสมองเอง
เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเราเรียกสิ่งนั้นว่า “ไข้” คำจำกัดความของไข้คือ วัดอุณหภูมิทางปากได้ >37.7°C (>99.9°F)
ไข้ ก็มีประโยชน์เช่นกัน มีการศึกษาว่า ที่สมองปรับสมดุลอุณหภูมิสูงขึ้น เพราะจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับเชื้อโรคบางชนิด และยังทำให้เม็ดเลือดขาวที่ต่อสู้กับเชื้อโรคสามารถทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม
แต่ไข้สูงก็มีโทษ คือสามารถทำให้เกิดการชักในเด็ก โดยมักจะเกิดในเด็กอายุ 5 เดือน – 6 ปี และมักเกิดใน 1- 2 วันแรกที่เริ่มไข้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความสนใจมากที่สุด ไข้สูงสามารถทำให้ร่างกายขาดน้ำ และ ไข้สูงยังทำให้การใช้ออกซิเจนและพลังงานในร่างกายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ไข้สูงทำอย่างไร
- กินยาลดไข้ ในที่นี้แนะนำเป็นพาราเซตามอลครับ เพราะยาลดไข้กลุ่มอื่นๆหากจะใช้อย่างปลอดภัยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหมอครับ
- เช็ดตัวลดไข้ เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด อาศัยการเช็ดเปิดรูขุมขนเพื่อระบายความร้อนครับ โดยใช้น้ำอุ่นไม่มาก เช็ดทวนรูขุมขนเข้าหาแกนกลางร่างกาย และที่สำคัญพักผ้าเหล่านั้นไว้ตามข้อพับต่างๆ ซอกคอ เพื่อระบายความร้อนด้วยครับ ไปชมวีดีโอกัน
- ดื่มน้ำมากขึ้นกว่าปกติ เพราะร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำจากอาการไข้ และน้ำยังช่วยกำจัดความร้อนได้ด้วยครับ
- สวมเสื้อผ้าที่สามารถระบายความร้อนได้ดี
- พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อลดการใช้พลังงานครับ
ปรับความเชื่อให้ตรงกันครับ
“เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นดีกว่า” ไม่จริงครับ เพราะการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจะทำให้รูขุมขนปิด การระบายความร้อนแย่ลง ส่งผลให้ไข้สูงกว่าเดิมได้ครับ
“ไข้สูงหนาวสั่นแปลว่าอาการหนัก” ไม่จริงครับ เพราะ การสั่นเป็นการสร้างความร้อนโดยกล้ามเนื้อ เพื่อให้อุณหภูมิสูงขึ้น จนเข้าสู่สมดุลใหม่ที่สมองตั้งไว้เพียงเท่านั้น
“ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็นแปลว่าอาการหนัก” ไม่เสมอไปครับ การที่มือเท้าเย็น เป็นการตอบสนองของร่างกายในการเก็บความร้อน เพื่อให้อุณหภูมิแกนกลางสูงขึ้น ตามสมดุลใหม่ที่สมองตั้งไว้
“ตัวร้อนเป็นไข้ห้ามอาบน้ำ” อาบได้ครับ แต่ต้องเป็นน้ำอุณหภูมิเท่ากับร่างกายหรืออุ่นกว่าเล็กน้อย เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน และรีบเช็ดตัวให้แห้งครับ ไม่มีผลเสียใดๆต่อร่างกาย
.
.
ทุกบ้านควรที่จะมีปรอทวัดไข้ติดบ้านไว้นะครับ
เพราะ บางครั้งกว่าจะถึงมือหมอ มันอาจจะสายเกินไป
การดูแลเรื่องไข้สูงอย่างถูกวิธีและรวดเร็ว สามารถป้องกันการชัก
และ ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ครับ
.
.
.
ด้วยความรัก
Reference :
Harrison’s principles of internal medicine 18th edition
http://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=331§ionid=40726725
Siriraj E public library
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=274