“การป้องกันอุบัติเหตุดีกว่าเสมอ”
“แต่จะทำอย่างไรหากเกิดอุบัติเหตุ”
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ย่อมมีการช่วยเหลือตามมาจากพลเมืองดีที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ
แต่… การช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี นอกจากจะทำให้ผู้ประสบเหตุเสี่ยงเสียชีวิตแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนแก่ผู้ช่วยเหลือได้ครับ
หลักการในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุมีอยู่ว่า “ปลอดภัยทั้งผู้ประสบเหตุและผู้ช่วยเหลือ” ครับ
ซึ่งการช่วยเหลือ ขณะที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันมีขั้นตอนดังนี้ครับ
- ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และ ขอความช่วยเหลือ
- จัดลำดับการช่วยเหลือให้ถูกต้อง
- ช่วยเหลือเบื้องต้น
- นำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
จะเห็นได้ว่าขึ้นตอนในการช่วยเหลือในอุบัติเหตุมีขั้นตอนไม่มาก แต่ต้องตั้งสติในการช่วยเหลือครับ ต่อไปเรามาลงรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนกัน ว่าแต่ละขั้นตอนมีความสำคัญอย่างไร
- ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และ ขอความช่วยเหลือ
การป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนเป็นสิ่งสำคัญมากในการช่วยเหลือ เพราะมีผลต่อทั้งชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุเองและผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ
หากเกิดอุบัติเหตุทางจราจร ควรเปิดไฟฉุกเฉิน ออกจากตำแหน่งเกิดเหตุหากมีความเสี่ยงต่อการระเบิด และทำเครื่องหมาย กิ่งไม้ หรือสัญลักษณ์ ให้ผู้ใช้ถนนทราบก่อนที่จะมาถึงบริเวณเกิดเหตุ
หากไฟฟ้าช็อต ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้โดย สับสวิตช์ไฟฟ้าเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า ก่อนทำการช่วยเหลือ
หัวใจหลักคือต้องปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับการช่วยเหลือครับ และอย่าลืมที่จะโทร หรือ เรียกเพื่อขอความช่วยเหลือ
คลิกที่นี่เพื่อดูเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน
- จัดลำดับการช่วยเหลือให้ถูกต้อง
ในที่นี้เราว่ากันถึง “ลำดับการช่วยเหลือ” ว่าสมควร ที่จะช่วยใครก่อน จากความรู้สึก เราควรช่วยคนไข้ที่อาการหนักที่สุดก่อน แต่ไม่เสมอไปนะครับ ในทางการแพทย์ เราแบ่งการช่วยเหลือออกเป็นสองแบบ ยึดตามศักยภาพการรักษาของทีมที่จะดูแล ดังนี้ครับ
- Multiple casualties คือ จำนวนผู้ป่วย ไม่เกินขีดความสารถของทีมแพทย์ที่ดูแล แบบนี้ เราเลือกรักษา “คนไข้หนัก” ก่อนครับ
- Mass casualties คือ จำนวนผู้ป่วยเยอะ เกินขีดความสามารถของทีมแพทย์ที่ดูแล แบบนี้ เราจำเป็นต้องเลือกรักษา “คนไข้ที่มีโอกาสรอด” ก่อนครับ
ที่เราพบได้ส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันจะเป็นแบบ Multiple casualties คือเลือกคนไข้หนัก เข้าไปทำการรักษาก่อนครับ ซึ่งโอกาสที่จะพบ Mass casualties ก็มีเช่นกันครับ เช่น เครื่องบินตก รถทัวร์จมน้ำเป็นต้นครับ ซึ่งได้แต่หวังว่าอย่าได้เกิด เหตุการณ์แบบนี้เลย
- ช่วยเหลือเบื้องต้น (สำหรับคนทั่วไป)
ขั้นตอนนี้คือขึ้นตอนที่จะผ่อนหนักเป็นเบา โดยมีเราเป็นผู้ช่วยเหลือครับ ซึ่งจะอ้างอิงการดูแลเบื้องต้นในห้องฉุกเฉิน แต่ตัดเฉพาะส่วนที่สามารถทำได้ที่ จุดเกิดเหตุครับ เราเรียกสิ่งนี้ว่า A-B-C-D-E แต่หากผู้ประสบเหตุ หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ ให้เริ่มปั๊มหัวใจได้เลยครับ (คลิกที่นี่เพื่อดูคำแนะนำการปั๊มหัวใจ)
- A : Airway and C spine (การดูแลทางเดินหายใจและกระดูกคอ) ทำได้โดย ดูบริเวณปากว่าทางเดินหายใจโล่งหรือไม่ หากมีสิ่งอุดตันถ้าสามารถเอาออกได้ ให้เอาออกครับ และที่สำคัญห้ามเคลื่อนย้าย หรือขยับคนป่วย ยกเว้น บริเวณนั้นจะเสี่ยงมากต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
- B : Breathing (การช่วยเหลือเรื่องการหายใจ) ปลดเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อการหายใจที่สะดวก และหยุดการมุงดูครับ เพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทลำบาก
- C : Circulation (การช่วยเหลือเรื่องระบบไหลเวียนเลือด) คือ หยุดเลือดออก ทำได้โดยการกดบริเวณที่มีเลือดออก ด้วยผ้าสะอาด หรือ วัสดุทางการแพทย์
- D : disablility (การประเมิณระดับความรู้สึกตัว) ประเมิณโดยการถามคำถามทั่วไป เพื่อที่จะสามารถ บอกต่อแก่เจ้าหน้าที่ได้ครับ
- E : Environment (การช่วยเหลือเรื่องสภาพแวดล้อม) คือออกจากแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนรุนแรง หากสภาพแวดล้อมไม่เสี่ยงมากไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุครับ
การช่วยเหลือเบื้องต้น มีลำดับ ในการรักษา ที่จดจำค่อนข้างยาก แต่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ หากเกิดความเข้าใจแต่จำลำดับไม่ได้ เราสามารถเข้ามาอ่านและทำตามได้ครับ ในขณะที่กำลังช่วยเหลือคนที่ประสบอุบัติเหตุ
- นำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
หากผู้ป่วยไม่สามารถขยับ หรือ เดินได้ด้วยตัวเอง ควรจะได้รับการเคลื่อนย้ายโดยทีมช่วยเหลือครับ แต่หากการบาดเจ็บทั่วไปสามารถเดินเองได้ เราสามารถเดินทางไปสถานพยาบาลได้ด้วยตัวเองครับ
คำถามที่พบได้บ่อย
“ เลือดไหลไม่หยุดทำอย่างไร “ ส่วนมากแล้วจะเป็นอุบัติเหตุที่เส้นเลือดแดงฉีกขาด ทำได้โดย เอาผ้าสะอาด กดบริเวณแผล และ พันด้วยวัสดุต่างๆไว้ครับ รอทีมช่วยเหลือ
“ แขน ขา หัก ทำอย่างไร? “ หลักในการดูแลเบื้องต้นคือ งดการเคลื่อนไหวครับ ถ้าเป็นไปได้ให้อยู่นิ่งๆ รอทีมช่วยเหลือ แต่หากอยู่ในสถานที่ห่างไกล และจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง ให้ทำการดามชั่วคราว โดยใช้วัสดุแข็งที่ยาวกว่าอวัยวะส่วนที่หัก และต้องดามข้อที่อยู่ข้างเคียงด้วย เช่นหากแขนท่อนปลายหัก ต้องดามข้อมือ และ ข้อศอกเข้าด้วยกัน และสุดท้ายพันด้วยผ้าหรือผ้ายืด ความแน่นพอประมาณ
“ นิ้วขาด แขน ขา ขาด ทำอย่างไร “ จำเป็นต้องเก็บอวัยวะนั้นมาด้วยนะครับ เพราะปัจจุบันสามารถต่อได้ การเก็บอวัยวะทำได้โดย เก็บใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด ปิดปากถุงให้แน่น และ แช่น้ำแข็งมาครับ
.
.
การช่วยเหลือเบื้องต้นที่รวดเร็ว และ ถูกวิธี
ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ครับ
.
.
.
ด้วยความรัก
Reference :
ASSESSMENT AND MANAGEMENT OF TRAUMA,
http://www.surgery.usc.edu/acutecare/downloads/redbook.pdf
Initial Evaluation of the Trauma Patient
http://emedicine.medscape.com/article/434707-overview
PRINCIPLES OF TRAUMA MANAGEMENT
http://www.surgwiki.com/wiki/Principles_of_trauma_management
Initial management in Trauma
http://med.swu.ac.th/surgery/images/SAR54/initial%20management%20in%20trauma%20.pdf
แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางศัลยกรรม
http://www.rcst.or.th/view.php?group=8&id=205