การล้างแผลเบื้องต้น และ การหายของแผล
สำหรับคนที่ไม่มีเวลาอ่านนาน หมอขอย่อสั้นๆให้ครับ ล้างแผลครั้งแรกให้สะอาดที่สุดคือหัวใจหลักของการทำแผล แอลกอฮอล์ใช้เฉพาะรอบแผล บริเวณแผลเราใช้น้ำเกลือล้าง หรือ ถ้าอยากได้ฤทธิ์การฆ่าเชื้อร่วมด้วย สามารถใส่ โพรวิโดน-ไอโอดีน ลงไปในแผลร่วมด้วยได้ครับ ส่วนใครพอมีเวลา หรืออยากทราบเหตุผล มาเรียนรู้ฉบับเต็มร่วมกันครับ
——————————— จบ ———————————
การหายของแผล
แน่นอนครับว่าเป้าหมายของการล้างแผล คือ เราอยากให้แผลหายให้เร็วที่สุด และ เจ็บปวดน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นเรามาเรียนรู้กันก่อนดีกว่าครับว่า แผลนั้นหายได้อย่างไร? หมอจะเล่าให้ฟังครับ
การหายของแผลนั้นแบ่งเป็นระยะต่างๆได้ 4 ระยะดังนี้ครับ
- Hemostasis Phase (ระยะหยุดเลือดออก) ระยะนี้เส้นเลือดจะทำการหดตัว เกิดการทำงานของเกล็ดเลือด และ สารช่วยการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหล
- Inflammatory Phase (ระยะการอักเสบ) ระยะนี้เป็นระยะที่ทำให้เกิดการอักเสบ เป้าหมายคือการทำลายเชื้อโรคที่รุกล้ำเข้ามากับแผลครับ ระยะนี้ร่างกายจะทำให้เกิดการบวม แดง ร้อน เพราะเส้นเลือดจำเป็นต้องขยาย เพื่อส่งเม็ดเลือดขาว ที่เป็นทหารของร่างกายเรา เข้ามาจัดการกับสิ่งแปลกปลอม และ เนื้อเยื่อที่ตายแล้วครับ
- Proliferative Phase (ระยะสร้างเนื้อเยื่อ) ระยะนี้จะเกิดการสร้างเนื้อเยื่อทดแทน เนื้อเยื่อที่เสียใป เพื่อปิดแผลให้สนิท ระยะนี้อาศัยความชุ่มชื้น และ สารอาหารที่เพียงพอครับ ยิ่งพอเหมาะการสร้างเนื้อเยื่อนั้นยิ่งเร็วครับ โดยการปิดของแผลนั้นจะเริ่มจากขอบแผลไปเรื่อยๆครับ
- Remodeling Phase (ระยะปรับโครงสร้าง) ระยะนี้เนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นมาในระยะก่อน จะได้รับการปรับปรุงโครงสร้างให้เหมาะสมดังที่ควรจะเป็นกินระยะเวลานานเป็นปีได้ครับ และเป็นช่วงที่แผลเป็นนั้นลดความหนาลงมา
สิ่งที่ขัดขวางการหายของแผล ทำไมแผลไม่หาย
การหายของแผลนั้น จะเกิดลำดับตามขั้นบันไดระยะที่กล่าวมาครับ จะไม่สามารถข้ามขั้นได้เลย ทีนี้หมอจะชี้ให้เห็นกันว่าทำไมแผลบางคน ไม่หายซักที เป็นมานานแล้วนะ
- ระยะหยุดเลือดออกมีปัญหา พูดง่ายๆคือ เลือดไม่แข็งตัว ทำให้เลือดไหลอยู่เรื่อยๆ เราพบได้ในคนที่กินยาต้านเกล็ดเลือด เกล็ดเลือดมีปัญหา หรือ คนที่สร้างสารช่วยการแข็งตัวของเลือดไม่ได้ เช่น คนที่กินแอสไพริน วาร์ฟาริน หรือ กลุ่มคนที่ป่วยเป็นเกล็ดเลือดต่ำ รวมไปถึงคนที่เป็น ฮีโมฟิลเลีย เหล่านี้คือสาเหตุให้ติดอยู่ที่ระยะที่ 1 ครับ
- ระยะการอักเสบยาวนาน เพราะกำจัดเชื้อโรคได้ไม่หมด หรือที่หมอบอกพวกเราว่าแผลติดเชื้อนั่นแหละครับ เชื้อโรคเยอะ กำจัดได้ไม่หมด มันก็เลย ปวด บวม แดง ร้อน มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เข้าสู่ระยะต่อไปเสียที ระยะนี้ค่อนข้างพบบ่อยที่สุด
- ระยะสร้างเนื้อเยื่อมีปัญหา อันนี้เรื่องยาวครับ เพราะปัจจัยในการสร้างเนื้อเยื่อนั้น ต้องมีวัตถุดิบในการสร้าง ขาดสารอาหารเกินไปก็สร้างไม่ได้ ลำเลียงอาหารมาไม่ได้ก็สร้างไม่ได้ พบในกลุ่มเส้นเลือดมีปัญหา หรือกลุ่มที่แผลแห้งเกินไป ขาดความชุ่มชื้นก็สร้างเนื้อเยื่อลำบาก หรือแม้กระทั่งมีเศษสิ่งของเข้ามาขวางกั้นการสร้างเนื้อเยื่อ เช่น เศษไม้ ก้อนหิน เลือดคั่ง หนองขวาง ก็เป็นสาเหตุของการสร้างเนื้อเยื่อไม่ได้ทั้งหมดเลยครับ
- ระยะปรับปรุงโครงสร้างมีปัญหา ระยะนี้ส่วนมากแผลจะปิดเรียบร้อยแล้วครับ เกี่ยวกับความแข็งแรงและการทำหน้าที่เป็นหลัก ปัจจัยสนับสนุนคือสารอาหารในร่างกายและการลำเลียงโดยเส้นเลือดครับ
น้ำยาล้างแผลแต่ละชนิด
มาเข้าเรื่องที่จะนำไปใช้ได้จริงๆกันดีกว่าครับ เป้าหมายของการล้างแผลคือ เราต้องการที่จะจัดการเชื้อโรคที่เข้ามาให้สำเร็จ และ สร้างสภาวะแผลที่เหมาะสมกับการสร้างเนื้อเยื่อนั่นเองครับ ทีนี้หมอจะพาไปดูสิ่งที่เราใช้ๆกันอยู่อย่างแพร่หลาย ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร
- Alcohol (แอลกอฮอล์) มาในรูปแบบ 70% Ethyl Alcohol หรือ Isopropyl Alcohol สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ทำลายเนื้อเยื่อ แสบ 8/10 คะแนน
- Tincture iodine (ทิงเจอร์ไอโอดีน) มาในรูปแบบ 2.5% Tincture iodine สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ทำลายเนื้อเยื่อ แสบ 7/10 คะแนน
- Hydrogen Peroxide (ไฮโดรเจนเพออ๊อกไซด์) มาในรูปแบบ 3% Hydrogen Peroxide ฆ่าเชื้อโรคได้บางส่วน กัดกร่อนเนื้อเยื่อเป็นหลัก เทแล้วมีฟองฟู่ ใช้ในแผลเปื่อย มีเนื้อตาย แสบ 5/10 คะแนน
- Povidone iodine (โพรวิโดนไอโอดีน) มาในรูปแบบ 10% Povidone iodine และ 7.5% Povidone iodine surgical scrub(ฟอกก่อนผ่าตัด) ในที่นี้หมอขอพูดถึง 10% Povidone iodine นะครับเพราะหาได้ตามร้านทั่วไป ฆ่าเชื้อโรคได้ ทำลายเนื้อเยื่อน้อยมาก แสบ 2/10 คะแนน(ตามความเข้มข้น)
- Normal Saline (น้ำเกลือล้างแผล) มาในรูปแบบ 0.9% NaCl (Sodium chloride) ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ไม่ทำลายเนื้อเยื่อ แสบ 0/10 คะแนน
แล้วใช้ตัวไหนดีหล่ะเนี่ย เยอะไปหมดเลย จริงๆไม่มีถูกผิดนะครับ เดี๋ยวมาฟังกันว่าหมอแนะนำตัวไหนดี
วิธีการล้างแผล ไม่เจ็บ และ ได้ผลลัพธ์ที่ดี
มาเข้าเรื่องที่สำคัญกันเลยครับหมอขอแบ่งเป็นขั้นตอนเหมือนเดิมครับ เพราะแผลนั้นมีหลายแบบเลย และ จะบอกว่าการล้างแผลนั้นไม่มี ถูก หรือ ผิด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเหตุผลครับ
ขั้นแรกคือประเมินแผลกันก่อนครับ ว่าเป็นแผลชนิดไหน เราจะได้วางแผลได้ถูก แผลสด แผลสดแต่เสียงติดเชื้อ แผลที่ติดเชื้ออยู่แล้ว แผลเรื้อรังรัง แผลเรื้อรังที่มีเนื้อตาย แผลแต่ละชนิดนั้นมีการจัดการที่ต่างกันครับ เพราะเป้าหมายในระยะสั้นของแผลแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน ในที่นี้หมอขอพูดถึงเฉพาะกลุ่มแผลสดนะครับ เพราะกลัวจะยาวเกินไป
หากมีเลือดไหลจำนวนมากกดห้ามเลือด และ เดินทางไปสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วนครับ เพราะต้องได้รับการดูแลฉุกเฉิน
หากเลือดไหลไม่เยอะ เรามาดูวิธีการปฐมพยาบาลพื้นฐานกันครับ
ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ขั้นตอนนี้เป้าหมายคือลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค ถ้าหาน้ำเกลือได้แนะนำน้ำเกลือสะอาดกว่าครับ แต่ถ้าหาน้ำเกลือลำบาก การล้างด้วยน้ำเปล่าให้เร็วก็เพียงพอ ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด เพราะยิ่งล้างสิ่งปนเปื้อนออกได้มาเท่าไหร่การติดเชื้อก็น้อยลงเท่านั้น และที่สำคัญคือระยะแรกนี้ แผลเราจะยังไม่เจ็บครับ เพราะสารการอักเสบยังไม่มาก ล้างออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทำความสะอาดขอบแผลก่อน เพราะการปนเปื้อนของแผลในระยะต่อไปนั้นมักได้รับเชื้อโรคมาจากบริเวณรอบๆแผลครับ ทำความสะอาดด้วยอะไรดี เลือกได้เลยครับ ตรงนี้ ไม่เจ็บ เนื้อเยื่อไม่เสียหาย ไม่แสบอยู่แล้ว ฆ่าเชื้อได้จะดีมาก
ทำความสะอาดแผล มาถึงจุดสำคัญของเรื่องนี้ หลักในการทำความสะอาดตัวแผลคือ แผลต้องสะอาด และ เนื้อเยื่อไม่โดนทำลาย เพราะเดี๋ยวแผลจะหายช้า เราเลือกอะไรกันดี เนื้อเยื่อโดนทำลายน้อยเหลือ 2 ตัวเลือกแล้ว คือ น้ำเกลือล้างแผล(ไม่แสบเลย แต่ฆ่าเชื้อโรคไม่ได้) หรือ โพรวิโดนไอโอดีน(แสบน้อยมาก แต่ฆ่าเชื้อโรคได้) เอาไงกันดีนะ?? ไม่มีถูกผิดนะครับแบบที่หมอเคยบอกแล้ว
ถ้าประเมินแล้วไม่มีอาการ บวม แดง ร้อน มาก แปลว่าน่าจะไม่ติดเชื้อ การใช้น้ำเกลือล้างก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ถ้า มีอาการ บวม แดง ร้อน กว่าที่ควรจะเป็น หลังจากล้างน้ำเกลือจนแผลสะอาดแล้ว ตามด้วย โพรวิโดนไอโอดีนต่อ รอบสุดท้ายเพื่อฆ่าเชื้อก็ไม่เสียหายครับ
การทำความสะอาดนั้น เราจะ ใช้วัสดุทำแผล พวกสำลี ก๊อซ รอบเดียวครั้งเดียวเปลี่ยน ไม่ถูกไปถูกลับนะครับ เพราะเป็นการกระจายเชื้อโรค
เพราะฉะนั้นถ้าเราซื้อชุดทำแผลไว้ที่บ้าน มีอะไรบ้างดี ความเห็นของหมอนะครับ แล้วแต่คนจะจัดชุดเลย แต่หมอเลือกดังนี้
- ชุดทำแผลสำเร็จรูป หรือ แบบแยกส่วน
- น้ำเกลือล้างแผลหลายๆขวด เอาไว้ล้างในแผล
- โพรวิโดน ไอโอดีน เอาไว้ใช้รอบแผล กับในแผลถ้าจำเป็น
ล้างแผลไม่เจ็บทำไงดี
ถ้าทำตามขั้นตอนที่หมอเล่ามา น่าจะค่อนข้างได้ผลเป็นที่น่าพอใจเรื่องความสะอาดและการหายของแผลแล้ว ที่สำคัญไม่เจ็บมากแล้วครับ แต่ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยให้แผลเจ็บลดลง เช่น การใช้ยาแก้ปวดก่อนทำแผล การฉีดยาชา การพ่นยาชาก่อนทำแผล รวมไปถึง การใช้วัสดุปิดแผลที่ลอกออกง่าย ลองปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านท่านได้ เพราะว่าถ้าถึงกับต้องใช้ของพวกนี้ แปลว่าแผลของท่านไม่ใช่แผลทั่วไปแล้วครับ ต้องประเมินอีกเยอะเลย
ความเข้าใจผิดในการล้างแผล และ เรื่องอื่นๆ
ยิ่งเจ็บยิ่งหายเร็ว ความเจ็บนั้นบอกว่าสารนั้นทำลายเนื้อเยื่อของเรามากเท่าไหร่ แค่นั้นเอง ไม่ได้แผลผลโดยตรงกับการหายของแผล
ฟองฟู่เร้าใจ หายไวแน่นอน ไม่เกี่ยวกันนะครับ ไม่ได้เกี่ยวกับเชื้อโรค แต่ฟองฟู่นั้นเกิดจาก เอ็นไซม์ Catalase ในเลือดเรา ย่อยสลายให้ ไฮโดรเจนเพอออกไซ์ สลายตัวเป็น ก๊าชอ๊อกซิเจนกับน้ำ สรุปไม่เกี่ยวกันครับ
ใช้ยาแดงสิหมอ ใช้มาตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ เขาตรวจพบสารปรอทปนเปื้อนครับ เลยแนะนำไม่ให้ใช้กันนานแล้ว
ใช้ยาเหลืองสิหมอ ใช้มาตั้งแต่รุ่นแม่ คือ ก็ใช้ได้นะครับฆ่าเชื้อได้ด้วย แต่ลอง ค้นหาคำว่า Acriflavine ที่แปลว่ายาเหลืองดูได้ครับ เหมือนจะนิยมในบางกลุ่ม
ยาม่วงไงหมอ พอแล้วครับ จริงๆมีเป็นร้อยเลยเอาเท่านี้แล้วกันนะ
ใครมีคำถามหรือประสบการณ์เกี่ยวกับการทำแผล ร่วมแชร์ได้ครับ
นายแพทย์ธีรวัฒน์ สุวรรณี
แพทย์ประจำบ้านหมอ
Founder: www.idoctorhouse.com
Founder: Kinya App.
Facebook: นพ.ธีรวัฒน์ สุวรรณี