Physiology ใน 1 นาที (ฉบับย่อ)
ระบบหัวใจ และ หลอดเลือด เป็นเหมือนระบบหลักที่คอยหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ จะเรียกว่าเป็นพี่ใหญ่ของร่างกายก็คงไม่ผิดครับ หน้าที่หลักคือการขนส่งสารอาหารที่สำคัญในการดำรงชีวิตไปสู่เนื้อเยื่อทุกระบบ เพื่อให้ทุกระบบสามารถทำงานได้อย่างปกติ
การลำเลียงสารอาหารเหล่านี้จะมี “หลอดเลือด” เป็นท่อนำทาง และมี “หัวใจ” ทำหน้าที่ปั๊ม ปั้มเพื่อให้เกิดการหมุนเวียน
โดยการบีบตัวของหัวใจเกิดจาก เซลล์กำเนิดไฟฟ้าในหัวใจ สั่งการให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวครับ ส่วนทิศทางการไหลของเลือดโดนกำหนดโดยลิ้นหัวใจเป็นหลัก ระบบที่ทำงานสอดคล้องกันอย่างใกล้ชิดคือ
ระบบทางเดินหายใจ ทำหน้าที่รักษาสมดุลก๊าซในเลือด
ระบบทางเดินปัสสาวะ ทำหน้าที่รักษาสมดุลสารเคมีในเลือด
โดยทั้งสามระบบช่วยกันรักษา สมดุลของการส่งต่อสารอาหารไปสู่เซลล์ เพื่อการดำรงชีวิตครับ
การทำงานของของหัวใจและหลอดเลือด (ฉบับเต็ม)
หัวใจ และ หลอดเลือด นั้นทำงานควบคู่กันครับ มีเป้าหมายไปในทางเดียวกันคือการส่งผ่านเลือดและสารอาหารไปสู่เนื้อเยื่อในระบบต่างๆ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ความดันโลหิต” โดยกระแสเลือดจะนำพาสารอาหารและแก๊สที่ จำเป็นในการดำรงชีวิตเช่น กลูโคส โซเดียม โปแทสเซียม แคลเซียม และ ออกซิเจน เหล่านี้ไปสู่เซลล์ และนำสารที่เป็นพิษเช่น แอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ ไปทำลายครับ ในบทนี้ขอแยกการอธิบายแยกย่อยเป็น การทำงานของหัวใจ และ การทำงานของหลอดเลือดครับ
การทำงานของหัวใจ
การทำงานของหัวใจอาศัยกลไกทางสรีรวิทยาคือ การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งประกอบด้วยสามปัจจัยหลักดังนี้ครับ
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจ สิ่งนี้เกิดจากเซลล์พิเศษที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง(pacemaker cell) ซึ่งเซลล์นี้พบได้ในหัวใจเท่านั้น โดยมีอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ ในหัวใจห้องบนขวา(SA node) และ ต่ำลงมาระหว่างห้องบนและห้องล่าง(AV node) เซลล์เหล่านี้จะสร้างกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ โดยห้องบนจะสร้างจังหวะที่รวดเร็วกว่าจึงเป็นตัวหลักในการกำหนดจังหวะ กระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านจากห้องบน วิ่งลงมาที่ห้องล่างโดยมีการหน่วงเล็กน้อยที่ระหว่างทาง ทำให้หัวใจห้องบนบีบตัวก่อนห้องล่างเล็กน้อยเพื่อเป็นการไล่เลือดตามทิศทางที่วางไว้อย่างต่อเนื่องครับ
- การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ หลังจากได้รับกระแสไฟฟ้ามากระตุ้นที่กล้ามเนื้อหัวใจ จะเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจลดปริมาตรลงเพื่อบีบเลือดไปตามเส้นเลือดครับ (สามารถอ่านกลไกการทำงานของกล้ามเนื้อได้ คลิกที่นี่ครับ หลักการทำงานคล้ายกัน) สังเกตได้ว่าหัวใจห้องล่างซ้ายจะใหญ่และหนาที่สุด เหตุผลอยู่ที่ข้อถัดไปครับ
- การหมุนเวียนเลือด ในหัวใจมีการกำหนดทิศทางการไหลของเลือดโดยอวัยวะหลักคือ “ลิ้นหัวใจ” ครับ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวปิดกันให้มีการไหลเวียนแบบทิศทางเดียว ไม่มีย้อนกลับ โดยมีการหมุนเวียนสองระบบครับคือ ระบบส่งเลือดเสียไปปอดเพื่อทำการเติมออกซิเจน(ใช้หัวใจซีกขวา) และ ระบบส่งเลือดดีไปเลี้ยงทั่วร่างกาย(ใช้หัวใจซีกซ้าย) และแน่นอนว่าหัวใจที่ทำงานหนักที่สุด คือหัวใจห้องล่างซ้าย จึงทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดและลิ้นหัวใจห้องนี้ก็มีความแข็งแรงที่สุดเช่นกัน และแน่นอนอีกว่า หัวใจห้องที่มักมีปัญหาก็คือห้องล่างซ้ายเช่นเดิมครับ
มีวิธีการจำง่ายๆเรื่องทิศทางการไหลเวียนคือ
“เข้าบน-ออกล่าง” และ “ขวาร้าย-ซ้ายดี”
การทำงานของหลอดเลือด
หลอดเลือดมีสองระบบครับ หากสากลจะแบ่งหลอดเลือดเป็นสองระบบ คือ หลอดเลือดที่ออกจากหัวใจ(artery) และ หลอดเลือดขากลับเข้าสู่หัวใจ(Vein) แต่ไทยเรามาแปลเป็นหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ เพื่อความเข้าใจง่าย แต่ก็ทำให้เกิดความสับสนในระบบปอด ซึ่งเส้นเลือดดำและแดงจะสลับชื่อกัน ในที่นี้จึงขอเรียกแบบสากล คือ Artery(เส้นเลือดออกจากหัวใจ) และ Vein(เส้นเลือดกลับสู่หัวใจ) นะครับ
การไหลเวียนเลือดจะออกจากหัวใจห้องล่างซ้าย ผ่าน artery ขนาดใหญ่ และลดขนาดลงเรื่อยๆตามเนื้อเยื่อต่างๆ จนถึงขนาดเล็กที่สุด จะมีการแลกเปลี่ยนสารเคมี และ แก๊ส จำนวนมาก กับเซลล์เนื้อเยื่อ และสุดท้ายนำของเสียจากเซลล์ ลำเลียงผ่าน Vein ขนาดเล็ก และ รวมกันจนขนาดใหญ่ขึ้นกลับเข้าไปที่ห้องขวาเพื่อส่งไปที่ปอดต่อไป
Artery เป็นเส้นเลือดที่รับความดันจากการปั๊มของหัวใจ จึงปรับตัวให้มีความหนาและความแข็งแรงที่มากกว่า Vein และสามารถหดตัวเพื่อเพิ่มความดันของตัวเองได้ ซึ่งจะเกิดในกรณีที่หัวใจปั๊มเลือดได้ไม่แรงพอ กระบวนการนี้จะถูกควบคุมผ่านระบบประสาทอัตโนมัติครับ
ระบบประสาทอัตโนมัติ
เป็นอีกสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ครับ เพราะมีความสำคัญในการรักษาระดับความดัน โดย ทำงานคู่ขนานระหว่าง sympathetic(กระตุ้นเพิ่ม) และ parasympathetic(กระตุ้นลด) ซึ่งระบบอัจฉริยะนี้มีตัวแปรหลายตัวเป็นตัวกระตุ้นสมดุล เช่น ระดับความดันเลือด ระดับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และอื่นๆครับ จริงๆแล้วระบบประสาทอัตโนมัตินี้ทำงานเกี่ยวกับทุกระบบในร่างกาย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บท การทำงานของระบบประสาทและสมอง ครับ
มาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคหัวใจที่เกิดขึ้นกันครับ
ไม่ว่าจะผิดปกติตำแหน่งไหนก็สามารถเกิดโรคได้ทั้งหมดครับเช่น
- การสร้างและการนำไฟฟ้า เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นช้า หัวใจหยุดเต้น
- กล้ามเนื้อหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อตาย
- ลิ้นและผนังหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว
- เส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ(พบได้บ่อย)
- ความดันโลหิต เช่น ความดันสูง ความดันต่ำ
เป็นโรคหัวใจมีอาการอย่างไร ?
อาการแสดงก็ตามกลไก และ อวัยวะที่สูญเสียหน้าที่ไปเลยครับ เช่น วูบ หมดสติ ใจสั่น เหนื่อย หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ แขนขาบวม เจ็บหน้าอก ทำงานได้ลดลง เหนื่อยเร็วขึ้น วิงเวียน ปวดศีรษะ และอื่นๆอีกมากมายครับ
หมอตรวจหัวใจอย่างไร ?
ทางการแพทย์ จากการซักถาม และ การตรวจร่างกาย ด้วยตาดู หูฟัง สัมผัส วัดความดัน สามารถบอกตัวโรคได้ถึง 80%-90% เลยทีเดียว แต่ก็มีวิธีการหลายอย่างที่จะสามารถ ช่วยการวินิจฉัย ได้คือ
- EKG (ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) เพื่อดูการนำไฟฟ้าของหัวใจ และ จังหวะการเต้นของหัวใจ
- Chest X-ray (เอกซ์เรย์ทรวงอก) เพื่อดูขนาดของหัวใจ และเส้นเลือด จากเงารังสี
- Ecchocardiogram (ตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง) เรียกสั้นๆว่า “เอคโค่” เพื่อดูการทำงานของหัวใจแบบเป็นภาพเคลื่อนไหว ดูการวิ่งของกระแสเลือด ดูขนาดห้องหัวใจ และ การทำงานของลิ้นหัวใจ
- Coronary Angiogram (ฉีดสี) เพื่อดูลักษณะของเส้นเลือดหัวใจที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง
- Cardiac Enzyme (ตรวจเลือดเพื่อดูสารสัมพันธ์กับกล้ามเนื้อหัวใจ) เพื่อดูการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ
- Exercise Stress Test (การเดินสายพาน) เพื่อดูสมรรถภาพของหัวใจ
.
เหล่านี้เป็นการทำงานอย่างคร่าวๆเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือได้ว่าเป็นพี่ใหญ่ของร่างกายครับ หากขาดหัวใจร่างกายคงอยู่ไม่ไหว
เพราะความเข้าใจในพื้นฐานการทำงานของร่างกาย จะทำให้เกิดความเข้าใจ ในความผิดปกติที่เกิดขึ้น และสามารถนำไปสู่การดูแลอย่างถูกต้อง
หากใครมีข้อเสนอ หรือสงสัยใดๆ สามารถร่วมพูดคุยได้ ยินดีครับ
.
.
ด้วยความรัก