การย่างคืออะไร? เมื่อไหร่ห้าม? เมื่อไหร่ควร?
จากการสัมผัสคนไข้มา ไม่ว่าจะเป็นภาคไหนๆก็ตาม หมอเถียงไม่ได้เลยครับ ว่าสิ่งที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการกระทำของคนไข้ทุกคนคือ ความเชื่อ
อันนี้เถียงไม่ได้จริงๆ แม้จะมีหลักฐานทางวิทยศาสตร์ ที่ศึกษากันอย่างจริงจังและยาวนาน แต่ถ้าไม่เชื่อซะอย่าง สิ่งต่างๆที่หมอมอบให้เพื่อใช้รักษาโรค มันจะไม่ได้รับการใช้เลยแม้แต่น้อย
หมอถามตัวเองว่าทำอย่างไร คนไข้และหมอเราจึงจะเป็นทีมเดียวกัน?
และสุดท้ายหมอได้คำตอบว่า เราต้องเข้าใจเขาก่อนและนำวิทยาศาสตร์ที่เราเรียนรู้มาอธิบาย ด้วยเหตุผล และสุดท้ายได้ความดังนี้ครับ
การย่าง นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเราแล้วครับ ตั้งแต่สมัยยุคหินก็ว่าได้
บรรพบุรุษนั้นเห็นว่า ความร้อนจากไฟ สามารถบรรเทาความเจ็บปวด จากอาการต่างๆ โดยเฉพาะ อุบัติเหตุ หรือ อาการบวดเจ็บอื่นๆ จึงมีวัฒนธรรม การย่าง และ การอยู่ไฟ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การย่าง สามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาค เมื่อก่อนคิดว่าเป็นเฉพาะอีสาน แต่หลายปีก่อนตอนอยู่ภาคเหนือ ก็พบการย่างอยู่บ่อยๆ ถึงขั้นขอกลับบ้าน เพื่อกลับไปย่างเลยทีเดียวครับ
วิทยาศาสตร์ของการย่าง
การย่าง คือ การเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย โดยเป็นการเพิ่มอุณหภูมิเฉพาะเปลือกนอกของร่างกายเท่านั้นครับ ส่วนอุณหภูมิแกนกลางนั้นสามารถเพิ่มเพียงเล็กน้อย
การย่างนั้นใช้ไฟอ่อนๆ และบางครั้งมีฉนวนมากั้น เพื่อไม่ให้ร่างกายโดนไฟโดยตรง ฉนวนที่ใช้ ก็แล้วแต่วัฒนธรรมครับ ส่วนมากเป็นใบตอง หรือสมุนไพรต่างๆ
เราเอาวิทยาศาสตร์มาอธิบายได้ว่า เมื่ออุณภูมิผิวหนังส่วนภายนอกนั้นร้อนขึ้น จะทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในชั้นหนังแท้ และ ชั้นกล้ามเนื้อนั้นขยายตัวขึ้น(คลิกที่นี่เพื่อเรียนรู้เรื่องผิวหนัง) โดยกลไกที่สำคัญของการย่างนั้นส่งผลต่อเส้นเลือดโดยตรง(คลิกที่นี่เพื่อเรียนรู้เรื่องเส้นเลือด) ส่งผลให้เส้นเลือดขยาย และ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้นๆ ที่ได้รับความร้อน
การไหลเวียนที่เพิ่มขึ้นสามารถกำจัดของเสีย จากเซลล์ที่ได้รับความเสียหายนั้นๆ ทำให้อาการปวดนั้นดีขึ้น และ สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นครับ
เมื่อไหร่ห้ามย่าง?
อ้างอิงกับหลักฐานทางการแพทย์คือ ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก หลังจากเกิดอุบัติเหตุไม่ควรย่าง เพราะในช่วงแรกนี้การรักษาที่ถูกต้องคือ การประคบเย็นเพื่อให้เส้นเลือดที่ฉีกขาดหดตัว และ ลดการอักเสบ จากสารเสริมการอักเสบที่หลั่งในร่างกาย
หากมีการย่างภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกนี้ สิ่งที่จะได้รับคือ อาการบวมจากเส้นเลือดขยาย และ อาการปวดที่เพิ่มขึ้นจากสารเสริมการอักเสบต่างๆ
เพระฉะนั้นหากต้องการย่าง หมอขอให้ย่างหลังจาก 48 ชั่วโมงหรือ 2 วันไปนะครับ
.
— พักชมโฆษณาจาก Google —
— โฆษณาจบแล้ว เข้าเรื่องกันต่อ —
.
คำถามทั่วไปเกี่ยวกับการย่าง
ยิ่งร้อนยิ่งดีหรือไม่?
การย่างด้วยอุณหภูมิสูงเกินไป ไม่ได้เกิดผลดี แต่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อภายนอกได้ครับ เอาพออุ่นๆเท่านั้นก็เพียงพอที่จะได้รับประโยชน
ใครบ้างที่ห้ามย่าง?
ห้ามย่างในคนที่มีโรคประจำตัว เช่นเส้นประสาทอักเสบ หรือเบาหวานที่ขามึนชา เพราะการรับรู้อุณภูมินั้น ไม่สามารถบอกได้ เสี่ยงต่อความร้อนสูง จนถึงขั้นไหม้ เพราะขานั้นไม่มีความรู้สึก
กินยาหมออยู่ ย่างได้หรือไม่?
ห้ามหยุดยาที่แพทย์สั่ง เพราะ การย่างและยาของหมอ ไม่ได้เป็นข้อห้ามของกันและกันครับ สามารถกินต่อได้ตามปกติเลย
ย่างแล้วจะมีไข้หรือไม่?
การย่างเป็นเพียงการเพิ่มอุณหภูมิภายนอก ต่างจากไข้ที่มีการปรับศูนย์อุณหภูมิใหม่(คลิกที่นี่เพื่อเรียนรู้เรื่องไข้) ดังนั้นการย่างไม่ทำให้ไข้ขึ้นครับ มีกรณีเดียวที่จะย่างแล้วไข้ขึ้นคือ การใช้ไฟแรง อุณหภูมิสูง จนเนื้อเยื่อเหล่านั้นได้รับอันตรายและอักเสบรอบใหม่ครับ
.
.
เหล่านี้เป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อในภาคต่างๆของเรา
ใครมีข้อเสนอหรือสงสัย สามารถพูดคุยกันได้ครับ
หมอจะตอบในเชิงวิเคราะห์โดยอิงวิทยาศาสตร์
เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน
เพราะเรื่องเหล่านี้ ตำราฝรั่ง ไม่ได้เขียนไว้ครับ
.
.
ด้วยความรัก